ชำแหละ! กมธ.สิทธิมนุษยชนอาเซียน : โดย นันทิดา พวงทอง
เมื่อ : 27 มีนาคม 2556 08:52:24 เปิดอ่าน 1299
ในเวทีสัมมนา “เหลียวหลังแลหน้า บทบาทคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ไอชาร์-AICHR) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า” บนความหวังประชาชน ในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไอชาร์ของไทยคนแรกระหว่างปี 2553-2555 ที่เพิ่งจะหมดวาระไปเมื่อปีที่แล้ว ได้กล่าวเปิดใจถึงประสบการณ์ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคว่า หลักการทำงานอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องฉันทามติ เป็นสิ่งท้าทาย แม้ว่าในขณะนี้ ไอชาร์ จะสามารถผลักดันให้มีการประกาศใช้ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนสำเร็จได้ แต่การทำให้เกิดการบังคับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนฯ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าปฏิญญาสิทธิมนุษยชนฯ มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษ ส่วนตัวมองว่า เรื่องฉันทามติ ไม่เอื้ออำนวยให้การทำงานของ ไอชาร์ เนื่องจากในทางปฏิบัติหาก 9 ประเทศเห็นด้วย แต่อีก 1 ประเทศไม่เห็นด้วย ก็ทำให้เรื่องนั้นไม่มีฉันทามติและเดินหน้าต่อได้ นี่จะเป็นอุปสรรคต่อกลไกสิทธิมนุษยชนฯ และการดำเนินการไปตามกฎบัตรอาเซียน
ถ้าหากวิเคราะห์ความร่วมมือของอาเซียนบนพื้นฐานของความเกื้อกูล และประนีประนอมต่อกัน ที่เป็นลักษณะเด่น แต่กลับทำให้อาเซียนขาดบทลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งจะเห็นว่า กฎบัตรอาเซียนไม่ได้ระบุถึงการลงโทษประเทศสมาชิกในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎบัตรไม่ว่ากรณีใดๆ เนื่องจากอาเซียนอาศัยความสมัครใจ และความเต็มใจเป็นสำคัญ
"ความไม่มั่นใจในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎบัตรอาเซียนว่า จะเป็นเพียงแค่เสือกระดาษ ที่อาจถูกละเมิดได้ เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนอาศัยความสมัครใจและความประนีประนอมเป็นสำคัญ ทำให้ขาดความเด็ดขาด และขาดบทลงโทษที่รุนแรง นอกจากนี้เนื้อหาของกฎบัตรอาเซียนยังมีบางประเด็น เช่น หลักการฉันทามติ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งถูกมองว่าอาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับอาเซียนในการทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 ด้วย" ดร.ศรีประภากล่าว
ส่วนเรื่องกลไกการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่มีการเรียกร้องมาโดยตลอด ดร.ศรีประภา มองว่า องค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนจะมีส่วนสำคัญ ที่จะเข้ามาดูแลและยื่นมือช่วยเหลือในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ควรจะเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน นอกจากนี้องค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนควรจะมีหน้าที่และอำนาจเต็มในการเข้าไปช่วยเหลือและดูแลผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกระบวนการอีกด้วย
เมื่อพิจารณาหลักการที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาหลายส่วนก็ต้องถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากลอย่างมาก เช่น ข้อ 8 ซึ่งมีหลักว่า สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และตอบสนองความมั่นคงของชาติ, ศีลธรรมอันดี ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาการตีความที่แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มองว่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเลย
ถึงอย่างไรเสีย ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป และตัวปฏิญญาไม่ได้เลวร้ายขนาดใช้ไม่ได้
หลักการทั่วไปถือว่าดี อย่างในข้อ 4 ก็ได้บัญญัติรองรับให้ปฏิญญาคุ้มครองครอบคลุมในกลุ่มคนที่หลากหลาย และในข้อ 38 เป็นเรื่องสิทธิในสันติภาพ ที่กล่าวไว้ว่า "ทุกคนและประชาชนของอาเซียนมีสิทธิในสันติภาพ ภายใต้กรอบอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและความมีเสถียรภาพ ความเป็นกลางและเสรีภาพ" ตรงนี้แม้จะไปไกล แต่ก็นับเป็นความก้าวหน้ามาก
ดร.ศรีประภา ยังได้ฝากให้ผู้แทน ไอชาร์ คนใหม่จาก 10 ประเทศอาเซียน ช่วยกันเผยแพร่เนื้อหาของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้การส่งเสริมและคุ้มครอง นี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
--------------------
ที่มา: ที่นี่บัวแก้ว : ชำแหละ กมธ.สิทธิมนุษยชนอาเซียน : โดย...นันทิดา พวงทอง
|